อยากติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าในบ้าน กระแสไฟบ้านพอหรือเปล่า ?

Last updated: 9 มิ.ย. 2566  |  107 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อยากติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าในบ้าน กระแสไฟบ้านพอหรือเปล่า ?

ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง หลายคนเริ่มเปลี่ยนใจหันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น แต่ครั้นจะให้นำรถออกไปชาร์จไฟนอกบ้านทุกวันก็แอบกับวลว่าจะสะดวกไหม ต้องรอนานหรือเปล่า แล้วถ้าอยากติดเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านจะยุ่งยากกว่าเดิมไหม กระแสไฟบ้านของเราเพียงพอหรือยัง บทความนี้มีคำตอบ!

6 จุดต้องดู ก่อนติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน !

สำหรับใครที่เพิ่งถอยรถไฟฟ้าป้ายแดงคันใหม่มา ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับ Wall Charge มาพร้อมกับรถด้วย หลายคนจึงวางแผนว่าจะติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าดีหรือไม่ แต่ก่อนจะตัดสินใจติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน เรามาเช็ค 6 จุดสำคัญกันก่อน เพื่อประเมินว่าว่าบ้านของเราสามารถติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าได้ไหม

1. ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า เช็กกระแสไฟบ้านว่าเพียงพอหรือไม่

ก่อนติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ต้องเช็กมิเตอร์ไฟที่บ้านก่อนว่ามีขนาดกี่แอมป์ เนื่องจากเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าต้องใช้มิเตอร์ไฟที่มีขนาด 30 แอมป์ขึ้นไปสำหรับไฟฟ้า 1 เฟส แต่ถ้าหากเป็นมิเตอร์ 3 เฟส ก็ควรใช้ขนาด 15/45 เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณการใช้ไฟในบ้านที่มากขึ้น แต่การพิจารณาว่าจะใช้ไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ก็ต้องพิจารณารุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าและคุณสมบัติของเครื่องชาร์จที่จะนำมาติดตั้ง EV Charger ที่บ้านร่วมด้วย โดยคุณสามารถติดต่อการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใกล้บ้านเพื่อเปลี่ยนมิเตอร์ได้เลย

2. สายไฟเมนต้องมีขนาด 25 ตร.มม. ขึ้นไป

การติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน สายไฟเมนที่ต่อจากสายไฟหลักเพื่อเข้ามาภายในบ้านก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้จุดอื่นๆ โดยเราต้องเช็กขนาดสายไฟเมนหรือขนาดสายไฟที่เชื่อมมายังตู้ควบคุม ซึ่งขนาดมาตรฐานสายไฟเมนสำหรับบ้านที่ต้องการติดตั้ง EV Charger ต้องเป็นขนาด 25 ตารางมิลลิเมตรขึ้นไป (หากสายไฟเมนที่บ้านยังเป็นขนาด 16 มิลลิเมตร ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร) สาเหตุที่ต้องเป็นขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร เนื่องจากภายในจะเป็นทองแดง รวมถึงต้องตรวจสอบว่า Main Circuit Breaker (MCB) ที่ใช้งานอยู่รองรับได้ถึง 100 แอมป์หรือไม่ เพราะปกติบ้านทั่วไปจะรองรับได้เพียง 45 แอมป์เท่านั้น 

3. แยกตู้ควบคุมไฟฟ้า Miniature Circuit Breaker (MCB)

อุปกรณ์ตัวนี้เป็นเบรกเกอร์เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์ EV Charger ที่ทำหน้าที่ชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะแยกจากเบรกเกอร์อื่นๆ ดังนั้นก่อนการติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านให้คุณลองดูว่ามีช่องว่างสำหรับการติดตั้ง Miniature Circuit Breaker หรือไม่ ช่องว่างนั้นควรมีขนาดตามพิกัดที่สามารถรองรับกระแสไฟของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วย แต่หากบ้านไหนไม่มีช่องว่างเหลือแล้ว สามารถแยกตู้ออกมาต่างหากสำหรับใช้ควบคุมเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าเลยก็ได้

ข้อแนะนำ : เวลาติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้า ควรมีช่องเหลือสำรองไว้ เช่น หากจำเป็นต้องใช้ 5 ช่อง ก็ควรเลือกตู้แบบ 10 ช่อง ให้มีเหลือไว้อีก 5 ช่อง เผื่อติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายหลัง ก็จะสามารถมาติดช่องเพิ่มได้

4. เพิ่มความปลอดภัยด้วยเครื่องตัดไฟรั่ว Residual Current Device (RCD)

ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร อุปกรณ์ตัวนี้จะทำหน้าที่ตัดวงจร เมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออกไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นใครที่กำลังวางแผนติดตั้ง EV Charger ไว้ที่บ้านก็ควรมีเครื่องตัดไฟรั่วไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไฟไหม้บ้านที่ทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน 

ข้อแนะนำ : เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีควรมีระบบตัดไฟอย่างน้อย RCD Type B หรือเทียบเท่า

5. ต้องมีเต้ารับแบบ 3 รู และใช้สายดิน

เต้ารับสำหรับการติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน ควรใช้แบบ 3 รู และใช้หลักดิน (สายดิน) ซึ่งจะไม่เหมือนเต้ารับเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ภายในบ้าน ดังนั้นการเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจึงต้องแยกออกจากหลักดินของระบบไฟเดิมของบ้าน โดยการต่อหลักดินสำหรับติดตั้ง EV Charger จุดชาร์จรถไฟฟ้าในบ้านควรใช้สายหุ้มฉนวนที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร ส่วนหลักดินควรมีขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.4 เมตร 

ข้อแนะนำ : การต่อสายดินกับหลักดินควรเชื่อมต่อด้วยความร้อน

6. หาตำแหน่งติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าให้เหมาะสม

ก่อนติดตั้งเต้าชาร์จรถไฟฟ้า EV Charger ที่บ้าน อย่าลืมเช็กตำแหน่งที่จะติดตั้งว่าจุดไหนดีที่เหมาะสม โดยแนะนำให้ติดตั้งจุดชาร์จไว้ในที่ร่ม เพื่อปลอดภัยจากการถูกแสงแดดหรือพายุฝนทำร้าย และป้องกันการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ แม้ว่าเต้ารับจะระบุว่าสามารถใช้ภายนอกบ้านได้ก็ตาม 

ข้อแนะนำ : ระยะความยาวของสายชาร์จส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 เมตร ดังนั้นอย่าลืมกะระยะตัวรถและสายชาร์จก่อนการติดตั้ง

สำหรับใครที่กำลังมีแพลนจะติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger) ที่บ้าน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ห้ามลืมคือการเลือกบริษัทติดตั้งที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ โดยอาจจะต้องขอดูใบอนุญาตเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้ามาตรวจสอบด้วยว่าการติดตั้งผ่านมาตรฐานหรือไม่

แต่สำหรับใครที่ประเมินดูแล้วว่ายังไม่พร้อมติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านเองก็ไม่เป็นไร คุณสามารถวางแผนการชาร์จรถไฟฟ้ากับสถานีชาร์จรถไฟฟ้าใกล้บ้านก็ได้เช่นเดียวกัน เพียงแค่กะระยะเวลาใช้รถให้ดี แล้วนำรถไปชาร์จไฟล่วงหน้าประมาณ 30-40 นาที ก็จะช่วยให้คุณใช้รถได้รวดเร็วทันใจมากยิ่งขึ้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้