Last updated: 9 มิ.ย. 2566 | 332 จำนวนผู้เข้าชม |
ใครที่อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้าต้องรู้จัก EV Charger เสียก่อน! เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้มีหน้าที่ชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. แบบ Normal Charge หรือ AC Charge 2. แบบ Double Speed Charge และ 3. แบบ Quick Charge โดยทั้ง 3 ประเภทนี้คืออะไร และมีความต่างกันอย่างไร มาทำความรู้จักให้มากขึ้นกัน!
ทำความรู้จัก 3 ประเภทของ EV Charger ในปัจจุบัน !
1. แบบ Normal Charge หรือ AC Charge
Normal Charge หรือ AC Charge เป็นการชาร์จจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยมิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเป็นเต้ารับสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ ระยะเวลาการชาร์จจะอยู่ที่ประมาณ 12-16 ชั่วโมง
ข้อแนะนำ : ก่อนติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน ควรเช็กกระแสไฟฟ้าเดิมที่บ้านก่อนว่าเพียงพอหรือไม่ หากไม่สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A จะต้องติดต่อการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใกล้บ้านเพื่อเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อยเสียก่อน
โดยหัวชาร์จที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ
Type 1 เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าแบบกระแสสลับใช้กับแรงดันไฟฟ้าที่ 120 V หรือ 240 V
- รองรับระบบไฟแบบ 1 เฟส
- รองรับกระแสไฟฟ้าได้ 32A (7.4 kWh)
มีทั้งหมด 5 ขา นิยมใช้ในญี่ปุ่นและอเมริกา
Type 2 เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ รองรับแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 120 V หรือ 240 V
- รองรับระบบไฟแบบ 1 เฟส
- รองรับกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 70A (16.8 kWh)
- รองรับไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟสได้เช่นกัน ด้วยกระแสไฟฟ้า 63A (43 kWh)/เฟส
มีทั้งหมด 7 ขา นิยมใช้ในประเทศไทย
2. แบบ Double Speed Charge
Double Speed Charge เป็นการชาร์จแบบธรรมดาด้วย Wall Box หรือการชาร์จไฟกระแสสลับผ่านตัวแปลงไฟ พบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้า หรือตู้ชาร์จติดผนังติดตั้งที่บ้าน ระยะเวลาการชาร์จจะรวดเร็วกว่า Normal Charge อยู่ที่ประมาณ 4-7 ชั่วโมง (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จ Wall Box, ขนาดของแบตเตอรี่ และสเปคของรถ)
การชาร์จด้วย Wall Box จะใช้เวลาชาร์จน้อยกว่าการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยหัวชาร์จที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ
Type 1 เป็นหัวชาร์จที่ใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น
Type 2 เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในแถบทวีปยุโรป
ทั้งนี้การติดตั้งตู้ชาร์จ Wall Box มิเตอร์ไฟของบ้านที่ติดตั้งต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 30(100)A
3. แบบ Quick Charge
Quick Charge เป็นการชาร์จด้วยกระแสไฟฟ้าตรง (DC Charging) ที่จะส่งกระแสไฟตรงเข้าสู่แบตเตอรี่ในเวลาอันรวดเร็ว “ชาร์จไวกว่าแบบ Normal Charge หลายเท่าตัว” สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจาก 0% - 80% ได้ภายในระยะเวลาเพียง 40-60 นาที (ขึ้นอยู่กับความจุพลังงานแบตเตอรี่ กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ส่วนใหญ่จะพบที่สถานีชาร์จไฟนอกบ้าน เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือจุดแวะพักรถต่างๆ เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ แต่ไม่เหมาะกับการติดตั้งภายในบ้าน
ข้อแนะนำ : แม้ว่าการชาร์จด้วยระบบ Quick Charge จะชาร์จได้แบบรวดเร็วทันใจ แต่ก็ควรใช้ระบบชาร์นี้ในชั่วโมงเร่งด่วนดีกว่า เพราะการชาร์จแบบด่วนจะเร่งอัตราการเสื่อมสภาพของตัวแบตเตอรี่ได้เร็วขึ้น
โดยหัวชาร์จที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ
หัวชาร์จแบบ CHAdeMO (CHArge de Move) เป็นระบบชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วสำหรับ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า นิยมใช้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น
หัวชาร์จแบบ GB/T ผลิตและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ภายในประเทศจีน รองรับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่ารวดเร็ว
หัวชาร์จแบบ CCS (Combined Charging System) แบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ
- CCS Type 1 นิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะของหัวชาร์จมีขนาดเล็กกว่า CCS Type 2 และรองรับแรงดันไฟฟ้าที่ 200 V - 500 V
- CCS Type 2 นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป มีขนาดใหญ่กว่า และมีกำลังไฟมากกว่าหัวชาร์จ CCS Type 1
เลือกวิธีชาร์จไฟยังไงให้เหมาะกับรถไฟฟ้าของเรา ?
ก่อนที่จะเลือกวิธีชาร์จไฟเข้าสู่ตัวรถ สิ่งแรกคือเราต้องรู้ก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าของเรามีหัวชาร์จแบบไหน เช่น Type 1, Type 2, CHAdeMo หรือว่า CCS2 เมื่อเรารู้แล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าของเรารองรับหัวชาร์จแบบไหน ขั้นต่อไปจึงมาเลือกวิธีการชาร์จกัน!
กรณีไม่เร่งรีบใช้รถ
แนะนำให้ใช้ระบบการชาร์จแบบ AC (ไฟฟ้ากระแสสลับ) มีข้อดีคือ ไม่ทำร้ายแบตเตอรี่ และมีความเสถียร แต่จะใช้เวลาชาร์จค่อนข้างนาน จึงแนะนำให้เสียบชาร์จทิ้งไว้ข้ามคืน ตื่นเช้ามาก็เต็มพอดี
กรณีรีบใช้รถ
แนะนำให้ใช้ระบบการชาร์จแบบ DC (ไฟฟ้ากระแสตรง) มีข้อดีคือ ชาร์จได้รวดเร็วกว่าแบบ AC เป็นเท่าตัว เหมาะกับคนที่เร่งรีบใช้รถ หรือคนที่เดินทางไกลแล้วไฟใกล้จะหมดระหว่างทาง และประเมินแล้วว่าคงกลับไปชาร์จที่บ้านไม่ทันแน่ๆ ก็สามารถใช้การชาร์จแบบนี้ตอบโจทย์ได้ในทันที
สำหรับใครที่อยากติดตั้ง EV Charger ควรคำนวณให้เหมาะกับกับการใช้งาน เช่น
- ถ้าหากอยากติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน สามารถติดตั้งแบบ AC ก็เพียงพอแล้ว
- แต่ถ้าหากอยากติดตั้งแบบผู้ให้บริการ หรือติดตั้งบนสถานที่ที่ต้องการใช้ความเร็วในการชาร์จ แนะนำให้เลือกเป็นการชาร์จแบบ DC จะตอบโจทย์มากที่สุด
การติดตั้ง EV Charger ที่ได้มาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ไม่น้อยไปกว่าการเลือกซื้อเครื่อง EV Charger เลย ดังนั้นเจ้าของรถควรเลือกผู้ติดตั้งที่มีความเข้าใจด้านสถานีการชาร์จไฟรถไฟฟ้าอย่างถ่องแท้ เพื่อการวางระบบสายไฟลงดินอย่างถูกต้อง ป้องกันปัญหาไฟรั่ว และป้องกันไม่ให้เครื่อง EV Charger ทํางานผิดพลาดได้