Last updated: 9 มิ.ย. 2566 | 123 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจุบันรถไฟฟ้าเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยข้อดีมากมายที่ดูคุ้มค่ากับการซื้อ ไม่ว่าจะด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การขับขี่ที่นุ่มนวล ลดมลพิษทางเสียง การออกตัวรถที่มีประสิทธิภาพของอัตราเร่งสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมัน แถมยังมีรุ่นรถให้เลือกซื้อหลายระดับราคา ทำให้ผู้คนเข้าถึงรถไฟฟ้ากันง่ายขึ้น
แต่ในข้อดีก็ยังแอบมีเรื่องที่ชวนให้น่าปวดหัว! เพราะถึงแม้ว่ารถไฟฟ้าจะเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากขึ้น แต่เรื่องสถานีชาร์จรถไฟฟ้า และปัญหาในการชาร์จรถไฟฟ้าก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ทำให้หลายคนที่คิดจะซื้อรถในช่วงนี้ก็คิดลังเลในใจว่าจะตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าดีหรือไม่
สำหรับใครที่กำลังมีแพลนว่าจะซื้อรถไฟฟ้า แต่ยังสงสัยเรื่องการชาร์จ วันนี้เราจะมาพามาส่องเรื่องน่าปวดหัวเกี่ยวกับการชาร์จที่เจ้าของรถไฟฟ้ามือใหม่คาดไม่ถึงกัน!
3 ปัญหาหลักๆ เรื่องการชาร์จ ที่เจ้าของรถไฟฟ้ามักต้องเจอในช่วงนี้
1. รถไฟฟ้าชาร์จนาน ต้องรีบใช้รถ จะทำยังไงดีเนี่ย!
เมื่อก่อนเคยใช้รถยนต์แบบเติมน้ำมัน แค่ขับรถไปที่ปั๊มแล้วใช้เวลาแค่สั้นๆ เท่านั้นก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่พอเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ากลับต้องเจอปัญหาชาร์จนาน จะรีบใช้รถก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอรถชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้เสร็จก่อน ทำให้บางคนอาจมีหัวเสียที่ต้องคอยมานั่งรอรถชาร์จไฟนานๆ ได้
ปัญหานี้เราต้องมาดูกันก่อนว่าระบบชาร์จรถไฟฟ้าของเราเป็นแบบไหน ซึ่งในปัจจุบันมีสเปคการชาร์จ 2 รูปแบบหลักๆ คือ ชาร์จ AC, DC ซึ่งในบทความนี้เราจะอธิบายสั้นๆ ให้เข้าใจง่าย ดังนี้
ระบบชาร์จ AC (ชาร์จช้า)
ระบบ AC หรือ Alternating Current เป็นการชาร์จไฟแบบกระแสสลับกับระบบไฟฟ้าแรงดัน 220 โวลต์ เทียบเท่ากับการชาร์จผ่าน Wall Charger ที่บ้านทั่วไป โดยตัวประจุไฟจะผ่าน On Board Charger ก่อน เพื่อแปลงไฟกระแสสลับเป็นกระแสตรงก่อนเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จนานหลายชั่วโมง
ระบบชาร์จ DC (ชาร์จไว)
เป็นการชาร์จไฟกระแสตรงแบบอัดประจุเข้าไปในแบตเตอรี่ ระบบไฟที่ใช้จะมีเฉพาะที่สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงเข้าสู่แบตเตอรี่ ไม่ผ่านบอร์ดเพื่อแปลงกระแสไฟ ใช้เวลาในการชาร์จน้อยกว่า
ถึงแม้ว่าสถานีชาร์จรถไฟฟ้าจะมีระบบ Fast Charge แต่ก็ไม่ใช่ว่ารถทุกคันที่จะชาร์จไวได้ตามกำลังไฟของสถานีชาร์จ เพราะสิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับว่ารถของเรามีความสามารถในการรับไฟได้มากแค่ไหนด้วย ดังนั้นอย่าลืมวางแผนให้ดีก่อนชาร์จ เพราะคุณอาจต้องเสียเวลาอยู่ที่สถานีชาร์จไฟต่ำๆ ประมาณ 30-40 นาที
2. รถแบตเตอรี่เสื่อมได้ยังไง ในเมื่อชาร์จตามคำแนะนำแล้ว !?
คงเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ใช้รถไฟฟ้า เพราะปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครอยากเจอ ปัญหานี้ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์ได้แนะนำไว้ว่าควรเลี่ยงการชาร์จรถไฟฟ้าแบบ DC (Quick Charge) เนื่องจากจะทำให้ตัวเซลล์ของแบตเตอรี่เสื่อมเร็วมากขึ้นกว่าปกติ
แต่ถ้าใครชาร์จแบบ Normal Charge แล้วแต่แบตเตอรี่รถไฟฟ้าก็ยังเสื่อมอยู่ดี แนะนำให้ตรวจสอบเครื่องชาร์จที่ใช้ในปัจจุบันว่ามีปัญหาจุดไหนหรือไม่ และควรเลือกสถานีชาร์จที่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้ไฟในแบตเตอรี่เหลือ 0% แล้วค่อยชาร์จ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพลงได้
3. ไปต่างจังหวัดหาจุดชาร์จรถไฟฟ้าไม่เจอ ทำยังไงดี ?
ในปัจจุบันสถานีชาร์จรถไฟฟ้าไม่ได้หากันง่ายๆ เหมือนปั๊มน้ำมันที่กระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ของทุกจังหวัดเสียด้วย! ถ้าหากอยู่ในจังหวะฉุกเฉิน แบตเตอรี่รถไฟฟ้าใกล้หมด กะระยะทางกว่าจะไปถึงสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดแล้วไม่น่าไปทัน ให้เพื่อนๆ เข้าโหมดประหยัดพลังงาน ปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดทุกอย่าง เพื่อประมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าจนกว่าจะหาสถานีชาร์จได้
ซึ่งในปี 2566 เป็นต้นไปนี้ ยังคงมีแนวโน้มว่าสถานีชาร์จรถไฟฟ้ากำลังทยอยมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกระจายความครอบคลุมในทุกพื้นที่ ผู้ใช้รถไฟฟ้าสามารถดาวน์โหลด Application เช็กสถานีชาร์จรถไฟฟ้าใกล้ตัวเราได้ ก็จะช่วยให้วางแผนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบาย
แนะนำ 8 Application บอกพิกัดสถานีชาร์จรถไฟฟ้า!
1. EVolt : สามารถดูข้อมูลได้ว่าแต่ละสถานีว่างหรือไม่ มีคิวเยอะหรือเต็มไหม เพื่อวางแผนก่อนเข้าชาร์จ
2. EA Anywhere : บอกสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั้งปลั๊กอินไฮบริดและรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ โดยจะบอกสถานีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก
3. PlugShare : บอกสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ EV และ Tesla ซึ่งสามารถค้นหาสถานีบนแผนที่ได้ โดยมีตัวกรองการค้นหาตามรูปแบบรถแต่ละประเภท
4. MEA EV : สามารถใช้ค้นหาสถานีชาร์จได้ทุกค่ายทั่วประเทศ พร้อมระบบวางแผนและคำนวณเส้นทาง มีบอกจุดแวะพักระหว่างทาง
5. EV Station PluZ : สามารถเช็กความพร้อมของแต่ละสถานี และเช็กสถานะขณะชาร์จได้แบบเรียลไทม์
6. PEA VOLTA : แอปฯ สำหรับค้นหาสถานีรถไฟฟ้า ภายในเครือข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
7. GO TO-U : สามารถค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่รวมสถานีกว่า 300,000 แห่งทั่วโลก พร้อมระบบจองล่วงหน้า รองรับการชำระเงินหลากหลายช่องทาง
8. Prawan : สามารถค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าใกล้เคียงได้ พร้อมจองก่อนเข้าชาร์จได้มากกว่า 1 ชั่วโมง และยังดูการชาร์จของคนที่ชาร์จก่อนหน้าได้ เพื่อวางแผนก่อนเข้าชาร์จ นอกจากนี้ยังจ่ายเงินง่ายๆ เพียงสแกน QR Code เมื่อเสร็จแล้วจะมีระบบแจ้งเตือนให้ทราบ
สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่แพลนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แต่เป็นกังวลเรื่องจะหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้ายาก หรือบางครั้งอาจไม่ค่อยมีเวลาขับรถไปนั่งรอชาร์จไฟนอกบ้านเท่าไหร่ อาจมองการติดตั้งที่ชาร์จในตัวบ้านเป็นอีกวิธีสำรองก็ได้ เพื่อให้การใช้รถไฟฟ้าของคุณสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
แต่การจะสร้างจุดชาร์จรถไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นก่อนการติดตั้งอย่าลืมขอแนะนำจากผู้ให้บริการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ เพื่อมาตรฐานการใช้งานที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ส่งผลดีต่อรถไฟฟ้าคู่ใจของคุณในระยะยาว